SVF (Stromal Vascular Fraction)
SVF คือ การแยก stem cell ออกจากไขมัน ซึ่ง SVF จะมีส่วนประกอบของ Stem Cell มากถึง 40% เเละยังมี Growth Factor ที่มีผลอย่างยิ่งต่อการแก้ไขซ่อมแซมเซลล์และส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
SVF ย่อมาจาก Stromal Vascular Fraction คือกรรมวิธีในการแยกสเต็มเซลล์จากไขมัน
SVF ถูกค้นพบหรือพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2001โดยนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งใช้การดูดไขมันออกมา แล้วมาใช้กรรมวิธีในการแยกเอาองค์ประกอบที่ไม่มีเซลล์ไขมันเลยเรียกว่า Stromal
ถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างสะพาน Stromal เปรียบได้กับส่วนที่เป็นเหล็กดัดหรือปูนนั่นเอง Vascular คือเส้นเลือด Fraction คือองค์ประกอบ
ดังนั้น Stromal Vascular Fraction คือองค์ประกอบที่ได้มาจากการดูดไขมัน แล้วแยกเอาเนื้อไขมันออก เหลือส่วนที่เรียกว่า Stromal Vascular Fraction
ทำไมถึงมีบทบาทใช้ในการรักษาต่างๆ แม้กระทั่งในการรักษาอาการบาดเจ็บ หรือข้อเข่าเสื่อม เพราะว่าใน Stromal Vascular Fraction มีองค์ประกอบค่อนข้างเยอะ องค์ประกอบที่สำคัญคือ
1. Adipose stem cells
2. Mesenchymal stem cells
3. Progenitor cells
4. Growth Factors
Stem Cell คือ เซลล์ต้นกำเนิดที่จะเปลี่ยนเป็นเซลล์อะไรก็ได้ในร่างกาย ในกลุ่มของ Stem cell เอง เราพบว่ามีบทบาทในการช่วยซ่อมแซม เสริมสร้าง และทำให้บริเวณที่มีการบาดเจ็บ มีบาดแผล หรือพบการอักเสบสามารถหายได้เร็วขึ้น
ทำไมถึงหายได้เร็วขึ้น เพราะว่ากระบวนการอักเสบจริงๆแล้วผ่านกระบวนการเป็นขั้นตอน เรียกง่ายๆว่าเป็น ขั้นที่1, ขั้นที่2, ขั้นที่ 3, และขั้นที่ 4 ในการที่ใช้ Stem cell เข้าไป จะทำให้เกิดการลัดขั้นตอนของการอักเสบ ดังนั้นระยะอักเสบจะหดสั้นลง การอักเสบหายเร็วขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พังผืดทั้งหลายจะลดน้อยลง ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายถูกซ่อมแซมกลับไปสู่สภาพเนื้อเยื่อปกติได้ดีมากขึ้นโดยไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้
SVF (Stromal Vascular Fraction) มีหลายคนสับสนกับการรักษาแบบอื่น เช่น PRP (Platelet Rich Plasma) หรืออะไรก็ตาม แต่ในปัจจุบัน SVF ถูกนำมาใช้ในการรักษาผมร่วง ผมบาง ซึ่งพบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี
ถ้าเปรียบเทียบการรักษาด้วย PRP กับ SVF ว่าแตกต่างกันอย่างไร
จุดประสงค์ในใช้งาน SVF กับ PRP เกือบจะคล้ายกันทุกอย่าง แต่จุดสำคัญที่เราต้องการคือให้ Messenger ซึ่งคือสารสื่อคำสั่งที่จะทำให้เซลล์ทำงานได้อย่างที่เราต้องการ โดย PRP (Platelet Rich Plasma) ก็มี Messenger รูปแบบหนึ่ง มี Growth Factor รูปแบบหนึ่ง ส่วน SVF (Stromal Vascular Fraction) ก็มี Messenger อีกรูปแบบหนึ่งจากเซลล์ต่างๆที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในนั้น แล้วเราพบว่าใน SVF เอง จะมีการหลั่งสาร Growth Factor ค่อนข้างเยอะและมี Growth Factor บางชนิดที่ใน PRP อาจจะไม่เจอ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงพบว่าการใช้ SVF ในการรักษาผมร่วง สามารถทำให้ได้ผลการรักษาดีเพิ่มขึ้นไปอีก
แล้วมีคนใช้ SVF ร่วมกับ PRP ไหม?
โดยหลักการแล้ว PRP ก็มีข้อดีของตัวเอง และSVF ก็มีข้อดีของตัวเองเหมือนกัน แต่ว่าทั้ง PRP และ SVF ไม่ได้มีทุกอย่างที่เหมือนกันทั้งหมด เมื่อนำมารวมกันปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้ดีมากยิ่งขึ้น จึงมีคนนำ SVF กับ PRP มารวมกันในการรักษาผมร่วง ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ความหนาแน่นของผมสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 20 %
แต่เราพบว่ามีงานวิจัยฉบับหนึ่งรายงานว่าเมื่อเอา SVF มาฉีดผ่านกระบวนการที่ถูกต้องจะกระตุ้นให้เซลล์รากผมเจริญเติบโตได้มากขึ้นตั้งแต่ 30-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการวิจัยที่พบในบางรายไม่ใช่ทุกคนจะได้แบบนี้ทั้งหมด จึงเป็นความหวังของคนที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง
SVF อาจจะยากกว่าการทำ PRP เพราะว่ากระบวนการในการแยก SVF คือต้องดูดไขมันออกมาหรือในกรณีที่ทำผ่าตัดปลูกผมเป็นแบบ Strip เวลาที่เราตัดยกเอาหนังศีรษะออกมาข้างใต้จะมีไขมันเราสามารถใช้ไขมันตรงนี้ไปปั่นแยกออกมาแล้วนำกลับมาฉีด ถามว่ามันดีกว่าไหม? ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบว่าวิธีการนี้กับการใช้เทคนิคเดิมที่แยกเอา SVF ออกมาจากการดูดไขมันอันไหนดีมากกว่ากัน แต่การดูดไขมันได้จำนวนไขมันมากกว่าปริมาณเซลล์ที่แยกกันจึงมากกว่า
ในงานวิจัยกระบวนการแยก SVF จากไขมันที่ดูดออกมาได้มี 2 วิธีคือ
1. ใช้เอนไซม์ย่อยไขมันที่ดูดออกมา
2. ใช้เครื่องอัตโนมัติ โดยเครื่องจะดูดไขมันออกมาแล้วแยก SVF ออกมาให้
แต่พบว่าการใช้เอนไซม์ย่อย จะทำให้ได้ปริมาณของ Growth Factor หรือได้เซลล์ ที่เราต้องการมากกว่า ซึ่งผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่กระบวนการในการใช้เอนไซม์มีขั้นตอนยุ่งยากส่วนกระบวนการโดยการใช้เครื่องอัตโนมัติจะแพงกว่า ไม่ยุ่งยากเท่า ใช้เวลาน้อย แต่ว่าได้ตัวเซลล์ , สเต็มเซลล์ หรือ Growth factor อาจจะน้อยกว่าการใช้เอนไซม์ย่อยเล็กน้อย ปัญหาคือ เมื่อไหร่ที่มีการใช้เอนไซม์เข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์หรือสเต็มเซลล์ ตามกฎหมายของทางสหรัฐอเมริกา หรือ FDA จะถือว่าเป็นการไปทำ Manipulated Cell (ดัดแปลงเซลล์)
ในทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับวิธีการนี้แต่ก็มีคนที่ใช้เหมือนกัน ส่วนนอกอเมริกาก็มีคนใช้เทคนิคนี้เหมือนกัน ข้อเสียก็คือเอนไซม์ในทางการแพทย์ที่นำมาใช้ย่อยในทางปฏิบัติแล้วหาค่อนข้างยาก ในบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในห้องทดลองมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่สะดวกที่สุดและหมอคิดว่าปลอดภัย และปลอดเชื้อมากที่สุด ก็คือการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเป็น Closed System (ระบบปิด) ดูดไขมันแยกตัว SVF ออกมาและฉีดกลับเข้าไป ต้นทุนสูงกว่าบ้าง แต่ค่อนข้างปลอดภัย แม้จะได้เปอร์เซ็นต์ SVF ที่น้อยกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อรวมกับการทำ PRP หรือ Sonicated PRP แล้วจะทำให้ผลการรักษาดีมากยิ่งขึ้น
บทความโดย นพ.ธิติวัฒน์ วีรโรจน์รัชกุล
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5506773/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29554209/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31541565/
https://jcadonline.com/stromal-vascular-fraction-alopecia/